การสมโภชพระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ.๑๑๒ และฉบับ พ.ศ.๒๕๔๘
 

 

   พระไตรปิฎกเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบันทึกเป็นภาษาบาลี สืบทอดมาเป็นระยะเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งมีเนื้อหากว่า ๒๐ ล้านคำ โดยมีบันทึกไว้ชัดเจนว่า พระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป ได้รวบรวมในการประชุมสังคายนาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานเมื่อ พ.ศ. ๑
   จากความทรงจำของพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกและชาวพุทธทั่วโลก ทำให้เกิดการสังคายนาสำคัญของโลกมาเป็นระยะ ๆ ในสมัยพุทธกาลพระไตรปิฎกบาลีได้มีการสวดทรงจำตลอดมา จึงมิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในทวีปอินเดีย จนเมื่อปี พ.ศ. ๔๓๓ พระสงฆ์ลังกาได้มีการสังคายนาและบันทึกเป็นครั้งแรกด้วยการจารลงในใบลาน ด้วยอักษรสิงหลของลังกาทวีป
   พระไตรปิฎกบาลีฉบับ “จุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) อักษรสยาม” สมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษยอมรับว่า เป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก ที่พิมพ์เป็นพระคัมภีร์ทั้งชุดเพื่อสืบทอดพระไตรปิฎกตามหลักการสังคายนาในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยจัดพิมพ์ชุดละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไปยังพระอารามต่าง ๆ ทั่วกรุงสยาม และสถาบันสำคัญทั่วโลกอีก ๒๖๐ สถาบัน
   พระไตรปิฎกเล่มที่ว่านี้ไม่ได้เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการพิมพ์อันเป็นเลิศระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการปริวรรตภาษาบาลีจากอักษรขอมเป็นอักษรสยาม การเปลี่ยนมาใช้กระดาษแทนใบลาน และการพิมพ์แทนการจารด้วยมือ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญต่อการธำรงรักษาเอกราชและความเป็นไทยในช่วงวิกฤติการณ์ความมั่นคงของชาติสมัย ร.ศ.๑๑๒ ด้วย
    ปัจจุบันพระไตรปิฎกฉบับประวัติศาสตร์ชุดที่สมบูรณ์ที่สุดที่ค้นพบในประเทศไทย กองทุนสนทนาธรรมนำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ที่หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ขณะที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยอุปชาลา ในสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันที่ได้รับพระราชทานไปในครั้งนั้น ยังคงเก็บรักษาพระไตรปิฎกพระราชทานไว้อย่างดีและมีสภาพสมบูรณ์ และชาวตะวันตกเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า "The King of Siam's Edition of the Pali Tipitaka" (๑๙๘๓)
   สำหรับพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลกนั้นได้อาศัยข้อมูลจากพระไตรปิฎกบาลีอักษรสยาม ร.ศ.๑๑๒ นี้ด้วย ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ ภาษาบาลี อักษรโรมัน ตามการ สังคายนาร่วมกันของทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท
   ๖ มีนาคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงอุปถัมภ์พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา ได้เสด็จจาริกไปพระราชทานพระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมันแก่ ฯพณฯ จันทริกา บันดาราไนยเก กุมาราตุงคะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ ตามคำกราบทูลเชิญของ ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งประเทศศรีลังกา
   ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกบาลีได้สวดออกเสียงบาลีสังวัธยายตรวจทานพระไตรปิฎก ๔๐ เล่มนี้ถึง ๓ รอบ นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ชื่อว่า “เทคโนโลยีธรรมะ” มาช่วยยืนยันความแม่นยำสมบูรณ์ของพระคัมภีร์ทั้ง๔๐ เล่ม จึงทำให้พบการพิมพ์ผิดกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง
   พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับนี้ประกอบด้วยคำภาษาบาลี ๒,๗๐๘,๗๐๖ คำ หรือ ๒๐,๖๐๖,๑๐๔ ตัวอักษรโรมัน โดยในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นจำนวน ๑,๐๐๐ ชุด เพื่อประดิษฐาน ณ สถาบันชั้นนำทั่วโลก โดยเริ่มต้นจาก ๒๖๐ สถาบันที่เคยได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกจากกรุงสยามเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อไป.

 

     
   เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ คณะอักษรศาสตร์ร่วมกับกองทุนสนทนาธรรมนำสุข
ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้จัดงานสมโภช
พระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
อักษรสยาม (๓๙ เล่ม)  ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ
 
 

หอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น ๒ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ถนนอังรีดูนังต์ พญาไท กทม. ๑๐๓๓๐

โทรศัพท์ / โทรสาร   ๐ - ๒๒๑๘ - ๔๙๑๖
E-mail : inter_tipitaka@chula.ac.th

page hit counter